วันอังคารที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562

ชมพูตามัย VS กอละร้อย

เหมือนหรือต่าง ระหว่างเยอบีร่าไทย ชมพูตามัย กอละร้อย


ซ้าย ชมพูตามัย - ขวา กอละร้อย

          ชมพูตามัย กับ กอละร้อย แฝดคนละฝา ที่ถูกเพาะพันธุ์โดยคุณตาละมัย หรือตามัย 
(บางทีก็ถูกเขียนว่า ชมพูละไมย ชมพูละไม ชมพูตาไมย ตามชื่อคุณตา และเนื่องจากเป็นชื่อเรียกคนในสมัยก่อนไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าชื่อของคุณตาละมัยนั้น สะกดอย่างไร) 
ซึ่งเยอบีร่าไทยทั้งคู่นี้ถือได้ว่ามีพ่อที่ให้กำเนิดคนเดียวกันก็ว่าได้

แฝดผู้พี่ กอละร้อย 



         กอละร้อย เป็นเยอบีร่าสีชมพูสวยหวานแปลกตา ชมพูหวานแหว๋วตัดด้วยขอบขาว ซึ่งไม้สีนี้ในยุคแรกๆ นั้นไม่ค่อยมี ถือกำเนิดโดยการผสมพันธุ์ไม้ ของตามัย นักเลงพันธุ์ไม้ในยุคนั้น หลายสวนที่ต้องการแม่พันธุ์ต้นนี้ก็ต้องมาซื้อกับตามัย ซึ่งเป็นไม้สุดรักสุดหวง ในยุคที่ออกมาแรกๆ จึงถูกตั้งราคาไว้สูงมาก กอละ 100 บาท สำหรับแม่พันธุ์ ซึ่งในยุคสมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละบาท ถ้าไม่ซื้อเยอบีร่าต้นนี้สามารถกินก๋วยเตี๋ยวได้ร้อยชามเลยทีเดียว (ถ้าเทียบเล่นๆ กับเยอบีร่าอย่างลักษณ์แดงก้านดำที่ว่าตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูง ในยุคสมัยของก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท ก็ยังแพงเท่าแม่พันธุ์อย่าง  กอละร้อยไม่ได้เลย กอละร้อยราคาของเค้าแรงจริงๆ 
         ในยุคสมัยต่อมาน่าจะมีการขายแพร่ขยายต้นพันธุ์ต่อไปในท้องที่อื่น จากกอละร้อย เลยเพี้ยนชื่อ ไปเป็น "สามกอร้อย" แทนชื่อกอละร้อยในบางพื้นที่ หรือไม่ก็อาจจะขายถูกลงจากราคา กอละ 100 บาทเป็น 3 กอ 100 บาทในยุคถัดไปในท้องที่อื่นๆ ก็เป็นได้ 
         แต่ของสวยสีหวานอย่างกอละร้อยก็ยังคงมีจุดอ่อน คือ กอละร้อยให้ดอกไม่ดก นานๆ จึงจะเห็นดอกซักที ไม่เหมาะกับการซื้อไปปลูกเพื่อเป็นไม้ตัดดอกขาย ตามัยจึงผสมพันธุ์ไม้ใหม่ ซึ่งให้ดอกดกกว่า ออกมาเป็นชมพูตามัย

แฝดผู้น้อง ต้อง ชมพูตามัย



         เยอบีร่าไทยสีชมพูอีกต้นถูกตั้งชื่อตามเจ้าของพันธุ์ ถ้าดูผ่านๆ ก็จะดูคล้ายกอละร้อย เนื่องจากใบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน ใบใหญ่ ปลายใบโค้งมน  คล้ายๆ กัน แตกต่างเล็กน้อยตรงพุ่มกอ กอละร้อย จะเป็นพุ่มใหญ่ ในขณะที่ชมพูตามัย จะพุ่มจะเป็นทรงสวยกว่า ก้านใบจะยกตัวขึ้นเห็นทรงพุ่มที่ชัดเจนกว่า 

ดอก เป็นสิ่งที่จะแยกความต่างของทั้งคู่ได้ดีที่สุด เนื่องจากให้ดอกที่ต่างกัน ซึ่งต้องใช้การสังเกตเล็กน้อยเพื่อแยก ระหว่างกอละร้อย และชมพูตามัย (อาจจะแยกได้ยากสักหน่อยหากเป็นเพียงภาพถ่าย แต่ถ้าได้ลองปลูกดูทั้งคู่ จะเห็นความต่างของดอก ทั้ง 2 ต้นนี้)

        1. ทรงดอก ชมพูตามัยให้ดอกทรงที่มีลักษณะกลม ภาษาชาวสวนเรียก "ทรงกลีบดอกกลม" ซึ่งถือเป็น 1 ในลักษณะสำคัญของไม้ตัดดอกในยุคสมัยนั้น ในขณะที่ กอละร้อย จะมีแฉกกลีบดอกที่แยกออกมา เห็นได้ชัดเจน "ทรงกลีบดอกแฉก"
        2. ชั้นความหนาของกลีบดอก ชมพูตามัยให้กลีบของชั้นดอกที่หนากว่า ปกติอยู่ที่ประมาณ 6-7 ชั้นหรืออาจได้มากกว่าหากเลี้ยงงามๆ ในขณะที่กอละร้อยถูกจัดว่าเป็นไม้ประเภทกลีบบาง กลีบดอกซ้อนชั้นไม่เกิน 5 ชั้น
        3. ใจดอก คือบริเวณตรงกลางของดอก ศูนย์กลางของกลีบดอก ชมพูตามัยใจค่อนข้างใหญ่กลมสวยตั้งแต่ดอกอ่อนไปจนถึงบานเต็มที่ก็ยังคงใจดอกให้เห็นชัดเจน แต่กอละร้อยระยะดอกอ่อนมีใจให้เห็นและค่อยๆ เล็กลงๆ จนแทบไม่มีใจดอกเมื่อดอกบานเต็มที่
        4. สีของดอก ชมพูเหมือนกัน กลีบถูกตัดด้วยขอบขาวเหมือนกัน แต่ถ้าหากเทียบกันจะเห็นได้ว่าคนละเฉด ชมพูตามัยจะเฉดสีชมพูติดไปทางสีส้มสีเหลืองเล็กน้อย ในขณะที่ชมพูกละร้อยเป็นชมพูจริงๆ และจะเห็นการตัดขอบกลีบดอกได้ชัดเจนกว่า
        5. ก้านดอก ชมพูตามัยมีก้านดอกที่ใหญ่และแข็งแรงกว่ากอละร้อยที่ก้านค่อนข้างเล็ก

          ถ้าหากอยากเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนก็ต้องลองหาพันธุ์ชมพูตามัย มาปลูกคู่กับกอละร้อยดู แล้วจะรู้ว่าในความเหมือนนี้มีความต่าง

ขอขอบคุณข้อมูล จากชาวสวนเยอบีร่าไทยดั้งเดิมในเขตตลิ่งชัน และชาวสวนเยอบีร่าไทยดั้งเดิมพื้นที่อำเภอปลายบางผู้ให้ข้อมูล


ที่มา : Reuan Yaya Garden

วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562

That is love...Thai Gerbera


ว่าด้วยรัก...เยอบีร่า


.....ใครคนหนึ่งบอกฉันว่าเขาไม่ชอบที่จะยิ้ม เคยเปรียบความรักของเขาว่าเป็นต้นไม้ที่เหี่ยวเฉา มันตายไปแล้วไม่มีวันฟื้นกลับ


เยอบีร่าที่เริ่มฟื้นตัวแตกยอดใหม่

.....ฉันส่งรูปนี้ไปให้ นี่คือต้นเยอบีร่าที่น่าจะตายไปแล้ว มันแค่ต้องใช้เวลา บางทีความรักที่ตัดสินจะรักแล้ว ยินดีที่จะรักดูแลไม่หวังผลตอบ ขอแค่มีความสุขที่ได้ทำ ถึงตอนนี้จะเป็นต้นไม้ที่เหี่ยวเฉา หากเรายังรักก็แค่ยังคงดูแลรดน้ำอยู่เสมอๆ ไม่แน่หัวใจอาจเปิดขึ้นใหม่อีกครั้ง เหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆ แตกใบอ่อนขึ้นมา หรือไม่ก็อาจจะมีต้นใหม่งอกขึ้นมาแทนที่พื้นที่ตรงนั้น

และเมื่อผ่านเวลาผ่านไป...ณ ตอนนี้ก็เป็นดังว่าต้นไม้แตกใบอ่อนได้ฉันใด ความรักเกิดขึ้นใหม่ได้ฉันนั้นและก็ขอยินดีด้วยนะ ที่กลับมายิ้มได้ มีต้นไม้ต้นใหม่งอกขึ้นมาแล้ว ดูแลกันดีๆ นะ


ความรักก็เหมือนกับการปลูกเยอบีร่าเช่นกัน อย่าหักโหมมากเกินไป แต่ก็อย่าน้อยเกินไป

           
          เพราะการปลูกเยอบีร่าไทยไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ที่ต้องประคับประคองดูแลเอาใส่อยู่เสมอๆ และต้องใช้เวลาค่อยๆ เป็นค่อยๆ ถ้าอยากเก็บรักนี้ เก็บเยอบีร่าที่รักเหล่านี้ ก็อย่าไปหักโหมฝืนธรรมชาติของเขา เลี้ยงให้เป็นธรรมชาติอาจจะดีที่สุดก็ได้




เยอบีร่าใบเริ่มเหลืองเนื่องจากขาดธาตุอาหาร หรือภาษาเรียกแบบชาวสวนว่าเยอบีร่าบวช 
แก้ไขระยะสั้นโดยการใส่ปุ๋ยให้ธาตุอาหารใบก็จะกลับมาเขียว 
แต่เยอบีร่าเหล่านี้จะกลายเป็นแม่พันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ในการปลูกครั้งต่อไป

           
         ต้องมีความอดทน ความรักยังต้องใช้เวลาเป็นปี เยอบีร่าถ้าอยากเก็บพันธุ์ดีๆ ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีเพื่อให้ได้หน่อที่แข็งแรงไปเป็นแม่พันธุ์ให้กับอีกหลายรุ่น หากใจร้อนไปเขาอาจจะยังไม่พร้อมและอยู่กับเราไม่นาน หลังแยกหน่อกว่าจะฟื้นตัวขึ้นใหม่ก็ต้องใช้เวลาและการดูแลอย่างพอดีๆ อัดปุ๋ยมากไปต้นก็งามอยู่พักหนึ่งก่อนค่อยๆ ฟุบตัวลง ก็อัดปุ๋ยอีกสุดท้ายก็สำลักปุ๋ยและก็สูญเสียต้นไป ก็ต้องหันกลับมาถามตัวเราว่าปลูกเพื่ออะไร เพื่อขายก็ต้องแข่งกับเวลาการเร่งให้ออกดอกงามๆ คงไม่แปลก แต่ถ้าเน้นอนุรักษ์เราก็ไม่จำเป็นต้องไปเร่งจนเขาเหนื่อยเกินไป หากใจร้อนกว่านั้นก็ส่งเข้าแลปเพาะเนื้อเยื่อกันไป ไม่แปลกที่จะทำแบบนั้น แต่อาจจะให้เกียรติ ติดต่อบอกกล่าวเจ้าของต้น เจ้าของพันธุ์น่าจะดีกว่าไม่ใช่หรือ...




ดอกเยอบีร่าไทยหลากหลายสีสัน

           ถ้าความรักนั้นประเมินค่าไม่ได้ พันธุ์เยอบีร่าไทยดีๆ อย่างไม้คัดพันธุ์จริงๆ แล้วน่าจะถือว่าประเมินค่าไม่ได้ เช่นกัน กว่าคนสมัยก่อนจะผสมพันธุ์ไม้ได้ดีๆ แต่ละต้นต้องใช้เวลาขลุกอยู่ในโรงเรือนกันเป็นเดือนๆ ไม่ต้องพูดถึงความยาวนานของรุ่นปู่ย่า แค่รุ่นพ่อที่เรือนญ่าญ๋าเองก็ใช้เวลาเกือบตลอดชีวิตของพ่อที่จะรักษาพันธุ์ให้คงอยู่ ผ่านน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯไปก็หลายครั้ง ฝั่งธนบุรีที่อยู่เป็นสวนเป็นคลองหน้าฝนก็น้ำท่วมสวน ต้องวิดน้ำดำน้ำลุยฝนเพื่อเก็บรักษาต้นพันธุ์ของดอกไม้ที่พ่อรักเอาไว้นับครั้งไม่ถ้วน อาจจะได้ไม่ทั้งหมดและเสียพันธุ์ดีๆ ไปก็หลายพันธุ์ แต่ได้เท่าที่มีก็พอใจ แม้สวนอื่นแถวนี้จะเลิกปลูกไปเกือบ 30 ปี แต่ที่นี่ก็ปลูกไว้เป็นไม้ประดับเรื่อยมา นี่แหละเยอบีร่าไทยที่เรือนญ่าญ๋ามี เราใช้เวลาและความอดทนแค่ไหนที่จะรักษาพันธุ์ไม้คัดพันธุ์สวยๆ เหล่านี้ไว้ ควรตีค่าเป็นราคาเท่าไหร่ดีหล่ะ เราเฝ้ารอและรักมาหลายสิบปีค่อยๆ รักษา ค่อยๆ ตามหาเรื่อยมา บางสวนก็หวงแหนพันธุ์ของเขา เราก็ต้องเข้าใจ ใจเขาใจเราเขารักเขาหวงของเขา ก็คงต้องใช้ความอดทนไม่แพ้กันเพื่อรักษาพันธุ์เอาไว้ และจากเรื่องราวที่ถูกเล่ารุ่นสู่รุ่นซ้ำไปซ้ำมาของย่าที่ไม่อยากให้ลืมเลือนว่าตระกูลเรามีเงินใช้จ่ายก็มาจากเยอบีร่าเหล่านี้ แล้วคุณหล่ะรอได้นานเท่าไหร่รักมากเท่าไหร่หนอ... ตีค่าเยอบีร่าไทยเหล่านี้เท่าไหร่กันหนา... บางครั้งของบางอย่างมีเงินมากเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ถ้าไม่มีคนที่รักมากพอที่จะหวงแหนเอาไว้ เยอบีร่าไทยอาจเป็นแค่ต้นไม้ประดับชนิดหนึ่ง แต่สำหรับเราเยอบีร่าไทยเป็นมากกว่านั้น


ดอกเยอบีร่าที่ต้นโดนเพลี้ยเล่นงาน 
หน้าดอกก็จะดำต้องรีบเด็ดทิ้ง ทั้งดอก-ใบหากปล่อยไว้จะลุกลาม

         แม้แต่การดูแล ก็ไม่ต่างอะไรจากความรัก มากไปก็อึดอัด น้อยไปก็โหยหา เยอบีร่าเองถ้ารดน้ำมากก็รากเน่า น้อยก็ต้นเหี่ยวต้นโทรม อยู่ในที่ร่มมากก็ไม่โต กลางแจ้งร้อนมากก็เฉาบางต้นกลีบดอกก็ไหม้ ฝนมาก็ฟื้นตัวเร็ว ฝนมากก็รากเน่า ฝนๆ แดดๆ ก็เพลี้ยลง ก็คงต้องค่อยดูแลกันไป ฉีดยามากๆก็ไม่ดี ถามใจตัวเองดูว่ารักมากพอมั้ย แต่อย่างไรก็ต้องไม่ลืมที่จะรักตัวเองด้วย



เยอบีร่าไทยที่รากโคนผุ ซึ่งต้นจะไม่โต
          นอกจากนี้ยังสอนให้รักแบบไม่ยึดติด เพราะจะยึดติดกับดอกสวยงามของเขามากก็ไม่ได้ บางครั้งก็ต้องตัดใจตัดเพื่อให้เขาได้แตกหน่อออกดอกเพิ่ม ดอกหน้าดำก็ต้องคอยดูแลตัดทิ้ง หน้าฝนถ้าไม่พ่นยาก็ต้องตัดทิ้งแทบทั้งหมด หรือเมื่อครบเวลาแล้วยังยึดติดไม่ยอมแยกขยายขนาดกอก็จะค่อยหดลง หน่อแกร่งขึ้นแต่ต้นจะไม่โต และไม่ออกดอกงามๆ ให้เชยชมอีก และหากเจอไม้โคนผุ ซึ่งจะเริ่มจากใบเหลือง แล้วยุบตัวลงไปเรื่อยๆ รากผุสีเข้มคล้ำ เลี้ยงเท่าไหร่ก็ไม่โตก็ต้องตัดใจขุดทิ้งไป หรือไม่ก็ยอมย้ายไปดูแลต่างหากจะฟื้นก็ต่อเมื่อเขาค่อยๆ แตกหน่อใหม่ด้านข้างแต่ต้องใช้เวลานานมากทีเดียว


หากหลงรักเธอแล้วเจ้าเยอบีร่า...ก็ช่วยดูแลกันไปดีๆ เรื่อยๆ นะ

Love your...Thai Gerbera


ที่มา : Reuan Yaya Garden

เรื่องเล่าของลุงมนต์ คนสวนเยอบีร่าไทย

เล่าเรื่องเยอบีร่าไทย....ไปกับคุณลุงมนต์


งานศพของญาติผู้ใหญ่ในพื้นที่ทำให้พ่อกับลุงมนต์มาพบกันอีกครั้งที่วัด หลังไม่ได้พบปะกันมานาน หลังพูดคุยสารทุกข์สุขดิบกันซักพัก ลุงมนต์ก็ถามถึงเยอบีร่า
ลุงมนต์: เฮ้ย...ลักษณ์แดงของเอ็งยังอยู่มั้ย
พ่อ : ยังอยู่ จะเอามั้ยหละ
ลุงมนต์ : เออๆ เดี่ยวพรุ่งนี้แวะเข้าไปเอา

คนนี้ไม่ให้ไม่ได้ ถ้าขออะไรก็ต้องให้ สมัยก่อน (ประมาณ 30 กว่าปีก่อน) ลักษณ์ขาวเราน้ำท่วมสวนตายเกือบหมด ดีที่ลุงมนต์แกปลูกไว้ดูเล่นที่บ้าน ดอกออกงามเต็มกระถางเลย เห็นทุกครั้งที่เดินผ่านหน้าบ้านแกแต่ไม่กล้าขอ พอคุยเล่นกับคนขึ้นมะพร้าวแถวบ้าน ก็ทราบว่าแถวสวนลุงมนต์ยังมีอยู่พอสมควร แกยังปลูกดูเล่นใส่กระถางไว้ ตอนนั้นมี กุมาร ลักษณ์ขาว แดงถูกแทง (แต่ลุงมนต์ชอบเรียก "แดงสุดแทง" แกว่าฟังดูดีกว่า) เลยฝากอาที่ขึ้นมะพร้าวไว้ว่าถ้าไปขึ้นมะพร้าวสวนลุงมนต์ฝากขอเยอบีร่า "ลักษณ์ขาว" แกสักหน่อ

ไม่นานเกินรอเยอบีร่าไทยที่ชื่อว่า "ลักษณ์ขาว หรือ ลูกลักษณ์" กอใหญ่ก็มา ขอหน่อลุงมนต์หอบมาให้ทั้งกอ ลักษณ์ขาวสวยๆ ในเรือนญ่าญ๋าส่วนใหญ่ ณ ปัจจุบัน ก็มาจากลักษณ์ขาวกอนั้นของลุงมนต์

ตัดมา part ปัจจุบัน

วันถัดมาลุงมนต์ก็มาพร้อมจักรยาน ถือหน่อกล้วยไข่มาให้
ลุงมนต์เคยทำสวนเยอบีร่ามาตั้งแต่วัยรุ่น ทั้งปลูก ทั้งขาย เต็มพื้นที่กว่า 5 ไร่ ในสมัยนั้นลุงมนต์เล่าว่าแถวนี้มีแต่สวนเยอบีร่าทั้งนั้นแหละ ใครๆ ก็ปลูกกับเยอบีร่า สลับกับขิง ข่า กล้วย ฯลฯ แล้วแต่ว่าสวนใครจะปลูกอะไรเพื่อให้ดินได้เปลี่ยนธาตุอาหารในดิน ดินไม่เสีย ปีนี้ปลูกเยอบีร่าขนัดนี้ ปีต่อไปก็สลับไปปลูกขนัดอื่น ส่วนใหญ่สมัยนั้นปลูกกันอย่างน้อยๆ ก็เจ้าละ 3 ไร่ขึ้นไปไม่เช่นนั้นดอกก็อาจไม่พอขาย ได้ดอกไม่คุ้มค่าปลูก

ลุงมนต์เดินเข้ามาในสวนดูเยอบีร่า
ลุงมนต์ : เฮ้ยย...ปลูกไว้เยอะนี่หว่า
พ่อ : ตอนแรกกะจะปลูกไว้ดูเล่นหน้าเรือน พอลูกสาวเอาไปลงเน็ตขายได้ เลยขยายไปเรื่อย
ลุงมนต์ : อ่อ ไอ้หนูนี่เคยเห็นเล็กๆ ไปกับย่า ยังจำได้ๆ เมื่อก่อนตัวเล็กนิดเดียว
Me : สวัสดีคะ แล้วคุณลุงยังจำเรื่องราวเกี่ยวกับเยอบีร่าได้มั้ยคะ
ลุงมนต์ : ได้ๆ นี่ยังไม่แก่ ฮ่าๆๆ
Me : เล่าให้ฟังบ้างสิคะ
ลุงมนต์ : ได้ๆ (ลุงมนต์เดินไปอมยิ้มก็ชี้ เรียกชื่อต้นนั้น ต้นนี้) ไอ้นี่มันแดงถูกแทง หรือว่าไม่ใช่ นี่มันถูกแทงผสมใหม่ไม่ใช่ต้นดั้งเดิมนี่หว่า
ไอ้นี่ขาวครุฑ จำได้ๆ

ไอ้นี่สวยเว้ยย...สีอิฐยังอยู่อีกเหรอ เฮ้ย!! ไม่ใช่นี่ว่าสีอิฐหนากว่านี่ แล้วตอนบานเต็มที่ไม่แบะดอกลงแบบนี้ กลีบมันตั้ง ไอ้นี่มันไอ้ลิงนิลนนท์ ออกดอกสวย แต่หลอกข้าไม่ได้หรอก ฮ่าๆ สวยๆ เลี้ยงได้สวยจริงๆ
พ่อ : เอาไปเลี้ยงเล่นที่บ้านมั้ยหละ
ลุงมนต์ : ไม่เอาๆ เอาลักษณ์แดงต้นเดียวก็พอ เอาไปดูเล่นคู่กะลักษณ์ขาว
พ่อ : ลักษณ์แดงนี่ในเน็ตต้องการมากเลย
ลุงมนต์ : อ้าว..ตายห่า...มาขอของดีเค้าซ่ะด้วย มันเป็นของดีคู่สวนนี่ตลอดน่ะ ถ้าพูดถึงลักษณ์แดงก็ต้องที่นี่ ต้องมาหาพันธุ์จากพ่อเจือ (ปู่) ตั้งแต่สมัยก่อน
พ่อ : จะเอาอะไรก็เอาเถอะ บอกมาได้ ปกติมีแต่คนที่มาเห็นแล้วอยากได้ต้นนั้นต้นนี้
ลุงมนต์ : ไม่เอาๆ ไว้สวยๆ ที่นี่แหระ ไว้ว่างๆ จะปั่นจักรยานมาชมบ้าง
ไอ้นี่มันทองประศรีนี่หว่า ไม่เห็นนานแล้ว
พ่อ : ทองประศรีใช่มั้ย ไม่ใช่เหลืองถ่อน่ะ
ลุงมนต์ : ทองประศรีๆ ไม่ใช่ไอ้ถ่อมันอีกต้น ใบแบบนี้มันทองประศรี ข้าจำใบมันได้
พ่อ : เห็นยังว่าต้นนี้ทองประศรี ทั้งย่า พ่อ และลุงมนต์ยืนยันแล้วนะว่ายังไงต้นนี้แบบนี้ก็ทองประศรี


เยอบีร่าไทย ลักษณ์ขาว ลูกลักษณ์

เมื่อเดินผ่านไปอีกร่อง
พ่อ : นี่ไงลูกลักษณ์ที่ได้มาจากพี่มนต์ แทบทั้งนั้นเลย
ลุงมนต์ : เออเฮ้ย...งามๆ แต่ยังไงก็ไม่เหมือนลักษณ์ต้นเดิมเนอะ ไอ้นั่นมันดก แต่ก้านมันสั้น
พ่อ : ใครเป็นคนผสมลูกลักษณ์นะ ตาหงส์หรือตาหยิบ
ลุงมนต์ : เรื่องนี้จำไม่ได้หว่ะ ชักแก่แล้ว 2 คนนี้แหละ แถวบ้านเราเซียนๆ เพาะก็ 2 คนนี้ จำได้แต่ไม้เด็ดๆ ของแก อย่างตาหงส์นี่แดงเลือดนก แล้วก็เหลืองอะไรนี่แหระ
ตาหยิบก็ต้องแดงลิ้นจี่ สวย แล้วก็ตามัยเป็นอีกคนที่เพาะเยอบีร่าเก่ง กอละร้อยเอย ชมพูตามัยเอย
แต่ลักษณ์ขาวลูกลักษณ์นี่ไม่แน่ใจ จำได้แค่เขาเพาะจากลักษณ์ต้นเดิม ก็เลยเรียกว่านี่ลูกลักษณ์ เพราะเป็นลูกที่เกิดจากลักษณ์ต้นเดิม แต่พอพ่อเอ็งมีลักษณ์แดง ก็เลยมาเรียกลักษณ์ขาว คู่กับลักษณ์แดงแทน แล้วไอ้ลักษณ์ต้นเดิมมันก็สูญพันธุ์ไปนานแล้ว โอ้ยย 40 - 50 ปีได้แล้วมั้ง พอมีลักษณ์ขาวเขาก็เลิกปลูกลักษณ์ต้นเดิม เพราะก้านสั้น หันมาปลูกลูกลักษณ์ ลักษณ์ขาวแทน เสียดายหลายต้น ไอ้สีส้มสร้อยฟ้า แววนกยูง พอมีส้มกุมารมาแทนก็เลิกปลูกกันหมด

เมื่อเดินมาถึงบริเวณซุ้มประตู ซึ่งพ่อมักจะวางอุปกรณ์เครื่องมือทำสวน ทั้งของเก่าและของใหม่ปนกัน
ลุงมนต์ : เออเฮ้ย...ถังนี่ยังอยู่อีกรึเนี่ย ไอ้หนู รู้เปล่าว่านี่ถังใช้ทำอะไร
Me : พ่อกับย่าบอกไว้ผสมปุ๋ยรดเยอบีร่าสมัยก่อนคะ
ลุงมนต์ : ปุ๋ยสูตรพิเศษ
ถังไม้สำหรับผสมปุ๋ย


***มาถึงจุดที่แนะนำว่าไม่ควรอ่านระหว่างรับประทานอาหาร

Me : พ่อว่าปุ๋ยที่ดีที่สุดคือ ขี้คน จริงมั้ยคะลุง
ลุงมนต์ : ฮ่าๆ ในสมัยก่อนถ้าจะจริง ปุ๋ยธรรมชาติที่ดีที่สุดก็ ขี้คนนี่หละ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้หมู ขี้ไก่ อะไรนี่สู้ไม่ได้ แถวสวนผักเมื่อก่อนนี่ก็ใช้รดผักเขียวชะอุ่ม รดขิงก็ขิงตาแดงเลยหล่ะ รดเยอบีร่าเองก็ให้ดอกงาม
พ่อ : ความรู้จากภูมิปัญญาชาวจีนที่มาทำสวน ถังไม้ที่ใช้นี่ก็ถังของชาวจีน
Me : ไม่เหม็นเหรอลุง
ลุงมนต์ : ก็เหม็นบ้างแต่ไม่อันตรายแบบสารเคมี อันนั้นเหม็นแสบจมูก
Me : อึใส่ถังนี่เลยเหรอ
พ่อ : ไม่ใช่ ถังนี่ไว้ใช้ผสม ชาวสวนแบบเราสมัยก่อนห้องส้วมแค่ไม้กระดานพาดแผ่นบนปากตุ่มที่ฝังไว้ครึ่งหนึ่ง พอจะเต็มปู่ก็จะตักใส่ถังนี่ ผสมกับเศษปลาหมักไปรดต้นไม้
Me : ..................

หลังจากนั้นพ่อกับลุงมนต์ก็หันมาคุยเรื่องราวอดีต และพันธุ์พืชสวนอื่นๆ .....
ก่อนกลับไปพร้อมลักษณ์แดง 1 กระถาง และนิลนนท์ 1 กระถาง ที่พ่อรบเร้าอยากให้
ลุงมนต์ : ไปแล้ว ไม่ต้องให้อะไรแล้วนะ นี่กะจะปั่นจักรยานอีกสักรอบ ให้งี้ก็ต้องกลับบ้านแล้วเนี่ยปั่นไม่รอด ไปนะ
และแล้วลุงมนต์ก็ปั่นจักรยานจากไป.....

ปัจจุบันลุงมนต์ไม่ได้ทำสวนแล้ว เลิกทำสวนเยอบีร่ามา 30 กว่าปี เนื่องจาก วัยที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่เมืองขยายตัว และรายล้อมไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรแทน แหล่งน้ำที่เคยใช้แต่เดิมสภาพก็ไม่เหมือนเมื่อครั้งเก่าก่อน ชาวสวนเยอบีร่าละแวกนี้ก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่ทยอยเลิกปลูกกันไปในช่วงพ.ศ. 2531-2534 แล้วบ้างก็หันปลูกมะกรูด ทำเกษตรพืชสวนผสมผสาน บ้างที่มีฐานะหน่อยก็หันไปเลี้ยงกล้วยไม้ บ้างก็ค่อยๆ ทยอยขายที่ จากพื้นที่การเกษตรค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหมู่บ้านจัดสรร ตามความเจริญของเมืองเส้นทางคมนาคมที่ขยายเข้ามาสู่ฝั่งธนบุรี

ก่อนหน้านั้นคือยุคบุกเบิกเยอบีร่าไทย
30 กว่าปีก่อนของยุคทองของดอกไม้ที่ชื่อเยอบีร่า
30 กว่าปีต่อมาของการหายตัวไปของต้นไม้ต้นนี้
30 ปีต่อไปจะเป็นอย่างไรหน๋อ...เจ้าเยอบีร่าไทย

ที่มา : Reuan Yaya Garden