วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นิทานพื้นบ้าน ขุนช้าง-ขุนแผน สู่การตั้งชื่อเยอบีร่าไทย


ชื่อเยอบีร่าไทย จากนิทานพื้นบ้าน
ขุนช้าง-ขุนแผน


ชื่อ (เรียงจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา) : หมื่นหาญ  นางพิม(ลูกผสม) กุมาร ทองประศรี และเทพทอง


หนึ่งใน วรรณกรรม สำคัญที่รู้
นี้มีผู้ ตั้งชื่อไว้ ให้มากมาย
ตั้งตามตัว ละคร ทำนายทาย
นิทานไทย พื้นบ้าน ขุนช้าง-แผน

เริ่มต้นด้วย ตัวเอกดอก สีแดงสด
งามหมดจด ตำนาน สะท้านแสน
เรียกกล่าวขาน ต้นหนึ่ง-สอง นามขุนแผน
ตามด้วยแฟน นางพิม พิลาไลย

ดอกสีปูน คนเก่าก่อน ตั้งชื่อไว้
อีกสูญไป แดงส้ม นามขุนช้าง
ซ้อนกลีบน้อย ซอยชั้น ดอกบางบาง
เหมือนผมร้าง หัวล้าน ขุนช้างเอย

อีกมารดา ขุนช้าง นางเทพทอง
เปรียบดอกของ เยอบีร่า บานเบ่ง
ออกส้มเหลือง ดอกใหญ่ ให้ดอกเก่ง
พินิจเพ่ง ต้องแสง ดั่งทองเชียว

อีกหนึ่งเหลือง สีสด ใจดอกเขียว
คือหนึ่งเดียว นามว่า ทองประศรี
มารดาของ ขุนแผน ชายชาตรี
อีกดอกมี สีส้ม แดงหมื่นหาญ

เป็นโจรป่า มีลูกสาว ชื่อบัวคลี่
เป็นผู้มี อาคม เข้าอาจหาญ
ใช้บุตรสาว มาหลอก เป็นแผนการ
แสนสะท้าน ขุนแผน โต้กลับไป

ให้ช้ำชอก เสียลูก และเสียใจ
ผ่าท้องไว้ ปลุกเสก กุมารทอง
เปรียบดอกของ เยอสีส้ม มิเป็นรอง
เป็นเหตุต้อง สูญต้นอื่น สีนี้ไป

เช่นในเรื่อง สีส้ม ชื่อสร้อยฟ้า
ภรรยา พลายงาม เหลือชื่อไว้
แทนที่ด้วย กุมาร ดอกสวยใหญ่
และอีกต้น ได้ชื่อไว้ จากเรื่องนี้

มีดอกสี ชมพูปูน หวานสวยดี
ชื่อนามนี้ มิใช่ใคร คือเณรแก้ว
ขุนแผน ในวัยเยาว์ คราวบวชแล้ว
ผู้คลาดแคล้ว ชื่อพลายแก้ว ก่อนหน้านั้น

แลขอจบ เล่าเรื่องชื่อ ที่นำมา
เยอบีร่า ผูกร้อยเรียง ชื่อพันธุ์
นิทาน พื้นบ้านไทย มาสร้างสรรค์
คล้องชื่อกัน กับดอกเยอ-บีร่างาม

จาก ส่วนหนึ่งของหนังสืออ่านนอกเวลา คุณครูอารยา

หมายเหตุ : นิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนนี้ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง และเป็นการยกเรื่องราวมาแต่งเป็นบทกลอนเพียงบางส่วนเท่านั้นเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของเยอบีร่าไทยที่คนในยุคก่อนได้ตั้งชื่อไว้ในอดีต


ชื่อเยอบีร่าไทย จากนิทานพื้นบ้าน ขุนช้าง-ขุนแผน

(ซึ่งหลายต้นอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว หรืออาจจะมีมากกว่าที่กล่าวถึง)

1.ขุนแผนต้น 1 ต้น 2
ดอกสวยมากสีแดงสด สว่าง ก้านสั้น ปัจจุบันขุนแผนต้นเดิมยังไม่ปรากฏให้เห็น ทั้งขุนแผนต้น 1 และขุนแผนต้น 2

2.นางพิม 
(พิมพิลาไลย/วันทอง ภรรยาขุนช้าง-ขุนแผน)
เยอบีร่าไทย: นางพิม (ผสม)
ปัจจุบันพบเพียงพันธุ์ที่ผสมขึ้นใหม่ให้มีกลีบดอกหนาขึ้น จากนางพิมต้นเดิมที่มีลักษณะกลีบดอกบางกว่า แต่เป็นสีชมพูเดียวกัน คือคล้ายกับสีปูนแห้ง

3.ขุนช้าง
สีของดอกออกสีส้มแดงกลีบบางมากไม่นิยมปลูก ซึ่งคาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

4.ทองประศรี 
(นางทองประศรีแม่ขุนแผน)
เยอบีร่าไทย: ทองประศรี
ดอกสีเหลืองติดเขียว ดอกแน่นหนากลมสวยมากๆ แต่ในบางพื้นที่กลับเรียกต้นนี้ว่าเหลืองถ่อ (ซึ่งในพื้นที่เขตตลิ่งชันซึ่งเป็นแหล่งพันธุ์เยอบีร่าไทยดั้งเดิมนั้น เหลืองถ่อจะเป็นอีกต้นหนึ่ง ซึ่งลักษณะจะไม่เหมือนกันกับเหลืองทองประศรี)

5.เทพทอง 
(นางเทพทองแม่ขุนช้าง)
เยอบีร่าไทย: เทพทอง
ดอกสีส้มเหลือง ดอกค่อนข้างใหญ่มาก กลีบซ้อนหลายชั้นฟูหนา สวยมากๆ เช่นกัน

6.กุมาร 
(กุมารทองบุตรชายของขุนแผนกับนางบัวคลี่ที่ถูกปลุกเสกเป็นของวิเศษสำคัญ 3 อย่างของขุนแผน)
เยอบีร่าไทย: กุมาร
เป็นต้นพันธุ์ท้ายๆ ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์มาใช้แทนสีส้มต้นอื่นๆ ต้นพันธุ์มาจากทางปลายบาง นนทบุรี เนื่องด้วยสีที่สดและสวย กลีบหนากว่า จึงเป็นสาเหตุให้ชาวสวนหันมานิยมปลูกกุมารแทนดอกสีส้มอื่นๆ และดอกสีส้มชื่ออื่นๆ ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป อาทิ สร้อยฟ้า แววนกยูง (เยอบีร่าสีส้มในยุคแรกๆ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยกุมาร)

7.หมื่นหาญ 
(บิดาของนางบัวคลี่ภรรยาขุนแผนอีก 1 คน)
เยอบีร่าไทย: หมื่นหาญ
ดอกสีส้มแดง กลีบค่อนข้างบาง ก้านอ่อนสีเข้ม (ดั้งเดิมในท้องที่ตลิ่งชันไม่ได้ปลูกไม้ต้นนี้ ได้พันธุ์/ข้อมูลชื่อพันธุ์มาจากแหล่งอื่น)

8.สร้อยฟ้า 
(ภรรยาพลายงามบุตรขุนแผนกับนางพิม)
เป็นไม้สีส้มในยุคแรกๆ สีส้มติดเหลืองเล็กน้อยกลีบละเอียด แต่ให้สีส้มไม่สดเท่ากับกุมาร จึงถูกทดแทนด้วยกุมารเลยค่อยๆ หายไป เนื่องจากชาวสวนเลิกปลูกแล้วหันมาปลูกกุมารตัดดอกขายแทน

9.เณรแก้ว 
(วัยเยาว์สมัยบวชเรียนของขุนแผน เดิมชื่อพลายแก้ว)
ดอกสีชมพู ดอกไม่ใหญ่มากนัก สวยหวาน น่ารัก ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังคงเหลือพันธุ์อยู่รึไม่

หมายเหตุ : เยอบีร่าไทยนั้นมีชื่อเรียกมาจากคนยุคก่อนได้ตั้งชื่อไว้เมื่อประมาณ 60 กว่าปีก่อนในยุคเฟื่องฟูบุกเบิกของเยอบีร่าไทย ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่ข้อมูลในเชิงวิชาการ ไม่สามารถใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของชาวสวนเยอบีร่าไทยดั้งเดิมในเขตตลิ่งชัน จากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น

ที่มา : Reuan Yaya Garden 

วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เยอบีร่า ดอกไม้ ความหมาย ความเชื่อ

เยอบีร่า ดอกไม้ ความหมาย ความเชื่อ

Gerbera: เยอบีร่า ดอกไม้มีความหมายแทนความความสุข แทนความรัก ที่ซื่อตรง มั่นคง


ดอกเยอบีร่าดอกไม้ประจำเดือน เมษายน 
ดอกไม้ฤดูร้อนในต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยอากาศเย็นๆ คือช่วงที่เยอบีร่าในบ้านเราสวยที่สุด ประมาณเดือน พ.ย.-ม.ค. (สมัยก่อนนิยมมากในเดือนเมษาเช่นกันในเทศกาลสงกรานต์)
เป็นนิยมใช้มอบเพื่อแสดงแทนความสุข มีความหมาย "ขอให้มีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิต" เนื่องจากสีสันสดใสสวยงามและมีหลากหลาย จึงเป็นตัวแทนของความสุขที่ผู้ให้ต้องการมอบให้แด่ผู้รับ และยังใช้แทนความรักที่หมายถึง ความซื่อตรง ความมั่นคง ในความรัก นอกจากนี้ดอกเยอบีร่ามีคุณสมบัติพิเศษในการดูดซับสารพิษอาคาร สิ่งก่อสร้าง การซื้อดอกเยอบีร่า หรือการประดับดอกเยอบีร่าตามอาคาร สำนักงาน บ้านเรือน จึงเป็นที่น่าสนใจ เพราะนอกจากให้ความหมายที่ดีแล้วยังมีคุณสมบัติพิเศษต่างจากดอกไม้อื่นๆ อาจจะเหมาะกับคนเมืองไม่น้อยทีเดียว


เรื่องเล่า: เยอบีร่าไทย ดอกไม้กับเรื่องราวของความเชื่อสู่การนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย


ในสมัยก่อน

      ในประเทศไทย เยอบีร่าไทยถูกผูกไว้กับความเชื่อมากมาย โดยเฉพาะในอดีต เนื่องจากสมัยก่อนดอกเยอบีร่าเป็นไม้ดอกจากต่างประเทศที่นิยมเข้ามาปลูกในยุคแรกๆ ประมาณ 50-60 ปีก่อน ที่ดอกไม้อืนๆ ยังไม่เข้ามามีบททบาทมากนัก ผู้คนจึงนิยมใช้ประโยชน์จากดอกเยอบีร่าในการทำสิ่งต่างๆ มากมาย ตั้งแต่บูชาพระ กราบไหว้ขอพรสิ่งศักสิทธิ์ ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อาทิ เช่น

- เยอบีร่าเคยเป็นที่นิยมนำไปบูชาพระพรหมเอราวัณ 
สำหรับเยอบีร่าไทยในสมัยหนึ่งเคยเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับพวงมาลัยที่ร้อยจากดอกเยอบีร่าใช้ในการกราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวพระพรหมเอราวัณในอดีต จุดเริ่มต้นของมาลัย 7 สี 7 ศอก เนื่องจากมีความหลากหลายของสีสัน จึงนิยมนำมาร้อยสลับเข้ากับดอกรัก/ดอกพุดเป็นพวงมาลัย โดยใช้เยอบีร่า 7 สี ร้อยสลับกับดอกรัก/ดอกพุด(ดอกไม้สีขาว) ให้มีความยาว 7 ศอก เป็นมาลัยดอกไม้สดไหว้ศาลพระพรหม รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่ใช้มาลัย 7 สี 7 ศอก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดอกไม้พลาสติกหลากสีในปัจจุบัน

- เคยนิยมมากทางโคราช (นครราชสีมา)ในการกราบไหว้แม่ย่าโม 
ในสมัยก่อนจะมีแม่ค้าดอกไม้ขับรถมากจากโคราชเพื่อมารับดอกไม้อยู่เรื่อยๆถึงสวนในกรุงเทพฯ (บางกรวย ตลิ่งชัน) ซึ่งในอดีตเป็นที่นิยมมากเชื่อกันว่าเป็ยดอกไม้ที่แม่ย่าโมชอบ หากไหว้แม่ย่าโมให้กราบไหว้ด้วยดอกเยอบีร่า

- เคยเป็นดอกไม้ที่นิยมไปวัด ในวันพระ ทั้งในลักษณะของกำดอกไม้ หรือดอกเล็กสำหรับเป็นอุบะมาลัย โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ในสมัยก่อนเยอบีร่าจะเป็นที่นิยมมาก ดอกไม้จะขายดีและได้ราคาสูง แต่ปัจจุบันเนื่องจากปริมานของเยอบีร่าไทยมีน้อยลงชาวสวนส่วนใหญ่เลิกปลูก เนื่องจากมีดอกไม้สวยๆ ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่มีตัวเลือกมากมายความนิยมจึงค่อยๆ ลดลงจนหายไป

ปัจจุบัน

     ปัจจุบันยังคงมีใช้ทำอะไร เยอบีร่าไทยไม่ได้ถูกมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายเหมือนในอดีต มีเพียงบางกลุ่มยังใช้อยู่บ้างนอกเหนือจากการซื้อไหว้พระทั่วไป
     สำหรับเยอบีร่านอก ทางภาคเหนือยังนิยมปลูกตัดดอกขายกันอยู่ก็จะเป็นดอกเยอบีร่าสวยๆ เหล่านี้ถูกนำมาขายยังแหล่งรับซื้อดอกไม้อย่างปากคลองตลาด เพื่อกระจายสู่ร้านขายดอกไม้ต่อไป นิยมนำมาจัดช่อดอกไม้ ใช้จัดพวงหรีด จัดใส่ถ้วยเล็กๆ วางขายซึ่งสะดวกเหมาะสำหรับใช้บูชาหิ้งเล็กๆ หรือประดับโต๊ะทำงานใน office เนื่องจากเยอบีร่านอกจากมีความสวยงามและมีหลากสีสันตามความชอบแล้ว ยังมีคุณสมบัติพิเศษ ในการดูดซับสารพิษในอากาศได้ 
     ส่วนเยอบีร่าไทยกลีบละเอียดเนื่องจากชาวสวนส่วนใหญ่ได้เลิกปลูกเพื่อตัดดอกขายไปแล้วจึงไม่มีให้พบเห็นโดยทั่วๆไป แต่ยังคงมีบางแห่งที่ยังเก็บพันธุ์ไว้และขายบริเวณชุมชนในวันพระในบางพื้นที่ 
และในความเชื่อเฉพาะกลุ่มบางกลุ่มยังคงใช้ เยอบีร่าประกอบพิธีกรรม 

เยอบีร่า 7/9 สี 7/9 ดอก ในการทำพิธีสะเดาะเคราะห์
เยอบีร่า 12/15 สี 12/15 ดอก ในการทำพิธีต่อชะตาชีวิต

ที่มา : Reuan Yaya Garden 
ชุดเยอบีร่าไทย 12 สี 12 ดอก
แดงถูกแทง แสงอาทิตย์ สุรเสน(ผสม) ลูกลักษณ์ กุมาร สีดา ขาวเล็บครุฑ 
โอล์ดโรส นางพิม(ผสม) กลีบบัว ลักษณ์แดง ลักษณ์ก้านดำ

5 Color of Thai Gerbera


5 Color of  Thai Gerbera

โทนสีหลักของเยอบีร่า


White Tone

เยอบีร่าไทยโทนสีขาว ได้แก่
         - จักรสั้น
         - จักรยาว
         - ขาวลูกไม้
         - ขาวครีม (บางพื้นที่เรียก จักรสั้น)
         - ขาวเล็บครุฑ (บางพื้นที่เรียก จักรสั้น)
         - มณฑา
         - ขาวตาแจ๋ว
         - ขาวประภาศรี
     ลูกผสม ลูกไม้สีขาวอื่นๆ อาทิ ขาวมะลิ (บางพื้นที่เรียก จักรยาว) ฯลฯ

ชื่อ : ขาวเล็บครุฑ
ชื่อ : ขาวครีม

ชื่อ : ขาวมณฑา
ชื่อ : ขาวลูกไม้

ชื่อ : ขาวมะลิ
ชื่อ : ขาวจักรยาว

Yellow Tone

เยอบีร่าไทยโทนสีเหลืองได้แก่
         - สีดา
         - เหลืองใหญ่(ต้นเดิม) (บางพื้นที่เรียก สีดา)
         - เหลืองใหญ่ปลายบาง
         - ทองประศรี (บางพื้นที่เรียก เหลืองถ่อ)
         - พระลักษณ์
         - เหลืองไข่ไก่ (บางพื้นที่เรียก พระราม นวลละออ)
         - เหลืองถ่อ
   ลูกผสม ลูกไม้สีเหลืองอื่นๆ อาทิ นวลจำปา เหลืองส้ม ฯลฯ



ชื่อ : เหลืองใหญ่ (ต้นเดิม)

             
ชื่อ : เหลืองใหญ่ปลายบาง
ชื่อ : เหลืองไข่ไก่

ชื่อ : ทองประศรี

ชื่อ : ลูกไม้ปลายบาง (นวลจำปา)

ชื่อ : เหลืองพระลักษณ์



Pink Tone

เยอบีร่าไทยโทนสีชมพู (ชมพู บานเย็น ชมพูส้ม)ได้แก่
         - แดงวิจิตร
         - ลักษณ์แดง
         - ลักษณ์ขาว ลูกลักษณ์
         - กอละร้อย (บางพื้นที่เรียก สามกอร้อย)
         - ชมพูตามัย (บางพื้นที่เรียก สามกอร้อย)
         - บัวหลวง
         - นางพิม
         - โอล์ดโรส
         - เณรแก้ว
         - กระดาษ
         - แม่ลักษณ์
     ลูกผสม ลูกไม้สีชมพูอื่นๆ อาทิ ลูกผสมนางพิม  แก้วฟ้า ชมพูปูน ไอ่กระ กลีบบัว แขกดำฯลฯ

ชื่อ : ลักษณ์แดง
ชื่อ : ลักษณ์ขาว

ชื่อ : ชมพูตามัย
ชื่อ : กอละร้อย

ชื่อ : โอล์ดโรส
ชื่อ : ชมพูกลีบบัว

ชื่อ : แดงวิจิตร
ชื่อ : บัวหลวง

ชื่อ : แก้วฟ้า
ชื่อ : ลูกผสมนางพิม

Red Tone

เยอบีร่าไทยโทนสีแดง ได้แก่
         - ลักษณ์ก้านดำ
         - แดงถูกแทง(ต้นเดิม)
         - แดงถูกแทง แดงใหญ่
         - แดงพื้นเมือง (บางพื้นที่เรียก ขุนแผนต้นใหม่)
         - ขุนแผน 1
         - ขุนแผน 2
         - แดงเลือดนก
         - แดงลิ้นจี่
     ลูกผสม ลูกไม้สีแดงอื่นๆ

ชื่อ : ลักษณ์แดงก้านดำ
ชื่อ : แดงพื้นเมือง (ขุนแผนต้นใหม่)

ชื่อ : แดงถูกแทง (แดงใหญ่)
ชื่อ : แดงถูกแทง (ต้นเดิม)

Orange Tone

เยอบีร่าไทยโทนสีส้ม (ส้ม ส้มเหลือง ส้มแดง)ได้แก่
         - แสงอาทิตย์
         - นิลนนท์  (บางพื้นที่เรียก แดงตาเปิ่น สีอิฐ)
         - หมื่นหาญ
         - ศรีสุวรรณ (บางพื้นที่เรียก สุรเสน)
         - สุรเสน
         - สุรเสน 2 (บางพื้นที่เรียก สร้อยทอง)
         - สีอิฐ
         - ขุนช้าง
         - กุมาร
         - เทพทอง
         - สร้อยฟ้า
         - แววนกยูง
         - วงศ์พระจันทร์
         - ส้มพื้นบ้าน
     ลูกผสม ลูกไม้สีแดงอื่นๆ อาทิ ส้มเหลือง (บางพื้นที่เรียก สีดา) ฯลฯ
ชื่อ : เทพทอง
        
ชื่อ : วงศ์พระจันทร์


ชื่อ : ส้มเหลือง
ชื่อ : กุมาร

ชื่อ : ศรีสุวรรณ
ชื่อ : สุรเสน 2

ชื่อ : ส้มพื้นบ้าน
ชื่อ : แสงอาทิตย์
ชื่อ : นิลนนท์
ชื่อ : หมื่นหาญ
***หมายเหตุ เยอบีร่าไทยหลายพันธุ์อาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือแค่เพียงคำบอกเล่าของชาวสวน
เยอบีร่าในสมัยก่อน และในแต่ละท้องถิ่นที่ปลูกอาจเรียกแตกต่างกันไป ข้อมูลนี้อ้างอิงจากชาวสวน
เยอบีร่าในเขตตลิ่งชันซึ่งเป็นแหล่งกำเนิด แหล่งใหญ่ของเยอบีร่าไทยเมื่อ 50-60 ปีก่อน ไม่สามารถใช้ในเชิงวิชาการ 100%

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2561

เยอบีร่าไทย ไม้คัดพันธุ์ VS ลูกไม้

ไม้คัดพันธุ์ VS ลูกไม้


         ในสมัยก่อนประมาน 60 ปีมาแล้วมีสมาคม กลุ่มคนที่รักในเยอบีรา ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่บางบำหรุถือว่าเป็นแหล่งที่มาของพันธุ์ไม้หลายๆ ชนิด โดยเฉพาะเยอบีร่าไทยส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดที่นี่ ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์เยอบีร่าขึ้นมาใหม่หลายสีหลายลักษณะ ซึ่งต่างไปจากเยอบีร่าพันธุ์ต่างประเทศ กลีบดอกเล็กละเอียดเรียงซ้อนกันหลายชั้น ทนแดด เหมาะกับสภาพวะการปลูกในเขตร้อนแบบบ้านเรา ในการผสมพันธุ์เยอบีร่าไทยกว่าจะได้ไม้คัดพันธุ์ ซึ่งก็คือเยอบีร่าไทยที่ผสมแล้วมีลักษณะสวยงามเป็นที่ยอมรับจากทางสมาคม ก็จะถูกตั้งชื่อ ส่วนใหญ่พันธุ์ไม้ที่ผ่านทางสมาคมมักจะถูกตั้งชื่อตามตัวละครในวรรณคดีไทย


ไม้คัดพันธุ์

- กว่าจะได้เยอบีร่าไทยที่สมบูรณ์และจัดเป็นไม้ที่คัดพันธุ์แล้ว ต้องผสมพันธุ์กันเป็นร้อยๆ ครั้ง
ไม้คัดพันธุ์จะมีลักษณะดอกต้นใบที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะดอกซึ่งเป็นเรื่องทีั่สำคัญมากสำหรับเยอบีร่า เพราะเป็นไม้ดอก ในสมัยก่อนชาวสวนนิยมปลูกเพื่อตัดดอกขาย
- ไม้คัดพันธุ์ที่ผ่านทางสมาคม/ กลุ่มคนรักเยอบีร่า รวมถึงไม้มีชื่อที่สมบูรณ์นิยมปลูกกันมีประมาณ 50 แบบ บ้างก็มีชื่อเรียก บ้างก็เรียกตามสีดอก ซึ่งส่วนใหญ่ให้ดอกสมบูรณ์สวยงาม
- แต่สำหรับการปลูกเพื่อตัดดอกไม้ เยอบีร่าไทยแค่ดอกสวยอาจไม่พอ เพราะบางพันธุ์ดอกสวยแต่ก้านสั้น ก้านอ่อน บานแล้วดอกโรยเร็ว ออกดอกไม่ดก ให้ดอกเล็ก ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ความนิยมในการปลูกลดลง และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้หลายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไป
- ซึ่งไม้คัดพันธุ์ ติด Top ที่นิยมปลูกเพื่อตัดดอกขายจริงๆ ในสมัยก่อน เนื่องจากมีสมบัติครบทุกข้อ ดอกสวยใหญ่กลีบหนา ใจดอกสมบูรณ์ ออกดอกสม่ำเสมอ ก้านยาวแข็งแรง มีประมาณแค่ 9 ชื่อ ซึ่งปัจจุบันบางต้นน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ได้แก่
                1. สีดา
                2. แดงถูกแทง
                3. เหลืองใหญ่
                4. กุมาร
                5. ลูกลักษณ์
                6. ลักษณ์แดง
                6. บัวหลวง
                7. เทพทอง
                8. ขาวลูกไม้
                9. แดงเลือดนก
        ชื่อที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่นิยมปลูกกันในหลายๆ สวน นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีอีกบางชื่อที่ปลูกตามความชอบของชาวสวนเองหรือไม่ก็เป็นไม้เฉพาะของสวนนั้นๆ ที่ทำพันธุ์ขึ้นเอง เช่น มณฑา กอละร้อย  ขาวครีม ชมพูกระดาษ ขาวตาแจ๋ว ลักษณ์แดงก้านดำ ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะที่ดีมากเช่นเดียวกัน



ลูกไม้

- เกิดจากการผสมพันธุ์เยอบีร่าไทยใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งในการจะได้แม่พันธุ์เยอบีร่าต้องผสมกันเป็นร้อยๆ ครั้ง ซึ่งทำให้เกิดลูกไม้มากมายเป็น ร้อยๆ ต้น
- ลูกไม้ คือ เยอบีร่าที่ผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ที่ไม่สมบูรณ์ ดอกเล็ก กลีบบาง ก้านอ่อน ไม่มีใจดอก
- สมัยก่อนจะไม่นิยมปลูก ถือเป็นไม้ที่คัดทิ้ง เพราะให้ดอกที่สมบูรณ์ไม่ได้ ซึ่งน่าจะมีอยู่หลายร้อยแบบ
- ในสมัยก่อนจะไม่มีการตั้งชื่อลูกไม้เหล่านี้ เพราะถือเป็นไม้ที่ไม่สมบูรณ์



ที่มา : Reuan Yaya Garden 

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2561

ตำนานรัก (ลักษณ์) เยอบีร่าไทย

ตำนานรัก (ลักษณ์) เยอบีร่าไทย

Thai Gerbera เยอบีร่าไทย ตระกูลลักษณ์

ชื่อนี้ได้มาแต่ใด
       ตระกูลลักษณ์เหล่านี้ ชาวสวนตลิ่งชันเรียกกันมาแบบนี้ร่วม 60 กว่าปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าเก่าก่อน ตั้งชื่อตามวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตามชื่อของพระลักษณ์ ตัวละครหลักซึ่งเป็นน้องชายของพระรามตัวเอกของเรื่อง ได้พันธุ์มาจากแถว บางบำหรุ บางพลัด เดิมเลยคือสีชมพูม่วงก้านสั้น เรียก ลักษณ์ต้นแรก/แม่ลักษณ์ ต่อมาจึงซื้อ ลูกลักษณ์/ลักษณ์ขาว เข้ามาปลูกอีกทีภายหลัง 


ดั้งเดิมเลย คือ ลักษณ์ต้นแรก (เรียกตามชาวสวนตลิ่งชัน) หรือบางพื้นที่ก็เรียก รักแรก แม่รัก
สีดอกออกสีชมพูเข้มออกม่วง บ้างก็มีแซมขาวเล็กน้อย ก้านสั้น (ปัจจุบันยังไม่ปรากฏ ต้นพันธุ์เดิมได้สูญหายไปกับน้ำเมื่อนานมาแล้ว) ปู่ทองเจือได้นำเข้ามาปลูกที่สวนในตลิ่งชัน
เกิดการเปลี่ยนสีไปเป็นสีชมพู - ชมพูเข้ม "ลักษณ์แดง "

        เมื่อนำลักษณ์ต้นแรกมาปลูกที่สวน ปรากฏว่าเกิดการเปลี่ยนสี เป็นลักษณ์แดง ซึ่งให้สีชมพู ไปถึง ชมพูเข้ม (ออกบานเย็น) ก้านยาว ดอกหนา ใหญ่สวยขึ้นกว่าเดิม ซึ่งลักษณ์แดงเป็นไม้ดอกสีที่นิยมมากในยุคก่อน และถือว่าเป็นสีที่เป็นเอกลักษณ์ของสวน เนื่องจากในสมัยนั้นมีเพียงแค่สวนแห่งนี้เพียงที่เดียวต่อมาจึงได้มีการขายหน่อแพร่พันธุ์ออกไป โดยได้แลกเปลี่ยนพันธุ์กับสวนใกล้เคียง รวมทั้งขายพันธุ์ให้กับชาวสวนที่ย้ายไปทำสวนทางภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ในยุคสมัยของปู่ ลักษณ์แดงจึงได้แพร่กระจายออกไปครั้งหนึ่ง ต่อมาก็ได้แบ่งปันพันธุ์ในกับญาติและคนรู้จักไปบ้าง ทางปทุมธานี อยุธยา เพชรบุรี ณ ปัจจุบันยังคงมีอยู่ สียังคงไม่นิ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอาจด้วยสภาวะแวดล้อมในการปลูก
เปลี่ยนสีอีกชั้นเป็น "ลักษณ์แดงก้านดำ/ แดงทองเจือ"

       ถัดจากลักษณ์แดงที่เปลี่ยนสีมาจากลักษณ์ต้นแรก ก็เปลี่ยนสีมาสู่ลักษณ์แดงก้านดำ/ แดงทองเจือ ตั้งแต่สมัยของปู่ลักษณ์แดงดอกสีชมพูเข้มบางกอก็เปลี่ยนสีมาเป็นสีแดงอมม่วงก้านดอกสีเปลี่ยนไปจากเดิมเคยสีเขียวกลายเป็นสีออกแดงๆ ม่วงๆ แม่ค้าดอกไม้ในปากคลองตลาดสมัยก่อนเรียกว่า ก้านดำ เป็นอีกดอกที่เป็นดอกไม้ชูโรงของสวนที่ทำให้ดอกไม้สีสันสดใส เข้มจัดกว่าแหล่งอื่นๆ ปัจจุบันยังมีอยู่แต่ไม่มาก ณ ที่สวนสีนิ่งแล้วไม่เปลี่ยนกลับไปเป็นลักษณ์แดงอีก

"ลูกลักษณ์ " 
       บางที่ก็เรียกลูกรัก ลักษณ์ขาว เป็นไม้ที่นิยมปลูกกันหลายพื้นที่ ให้สีชมพูหวาน สีอ่อนกว่า เป็นชมพูอ่อนแซมขาว คนเก่าแก่บางคนก็เรียกว่า ลักษณ์ขาว ทางสวนซื้อพันธุ์เอาเข้ามาปลูกภายหลังจากลักษณ์ต้นแรก ซึ่งยังคงสีเดิมไว้ไม่มีเปลี่ยนจากเดิม ไม่เหมือนกับลักษณ์ต้นแรก



*** หมายเหตุ ข้อมูลทั้งหมดไม่สามารถใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ 100 % เป็นเพียงคำบอกเล่าจากชาวสวนเยียบีร่าดั้งเดิมในเขตตลิ่งชันเมื่อหลายสิบกว่าปีก่อน ที่ได้รวบรวมเป็นข้อความมาถ่ายทอดเล่าสู่กันฟังเท่านั้น หากผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยด้วย

ที่มา : Reuan Yaya Garden