วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

นิทานพื้นบ้าน ขุนช้าง-ขุนแผน สู่การตั้งชื่อเยอบีร่าไทย


ชื่อเยอบีร่าไทย จากนิทานพื้นบ้าน
ขุนช้าง-ขุนแผน


ชื่อ (เรียงจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา) : หมื่นหาญ  นางพิม(ลูกผสม) กุมาร ทองประศรี และเทพทอง


หนึ่งใน วรรณกรรม สำคัญที่รู้
นี้มีผู้ ตั้งชื่อไว้ ให้มากมาย
ตั้งตามตัว ละคร ทำนายทาย
นิทานไทย พื้นบ้าน ขุนช้าง-แผน

เริ่มต้นด้วย ตัวเอกดอก สีแดงสด
งามหมดจด ตำนาน สะท้านแสน
เรียกกล่าวขาน ต้นหนึ่ง-สอง นามขุนแผน
ตามด้วยแฟน นางพิม พิลาไลย

ดอกสีปูน คนเก่าก่อน ตั้งชื่อไว้
อีกสูญไป แดงส้ม นามขุนช้าง
ซ้อนกลีบน้อย ซอยชั้น ดอกบางบาง
เหมือนผมร้าง หัวล้าน ขุนช้างเอย

อีกมารดา ขุนช้าง นางเทพทอง
เปรียบดอกของ เยอบีร่า บานเบ่ง
ออกส้มเหลือง ดอกใหญ่ ให้ดอกเก่ง
พินิจเพ่ง ต้องแสง ดั่งทองเชียว

อีกหนึ่งเหลือง สีสด ใจดอกเขียว
คือหนึ่งเดียว นามว่า ทองประศรี
มารดาของ ขุนแผน ชายชาตรี
อีกดอกมี สีส้ม แดงหมื่นหาญ

เป็นโจรป่า มีลูกสาว ชื่อบัวคลี่
เป็นผู้มี อาคม เข้าอาจหาญ
ใช้บุตรสาว มาหลอก เป็นแผนการ
แสนสะท้าน ขุนแผน โต้กลับไป

ให้ช้ำชอก เสียลูก และเสียใจ
ผ่าท้องไว้ ปลุกเสก กุมารทอง
เปรียบดอกของ เยอสีส้ม มิเป็นรอง
เป็นเหตุต้อง สูญต้นอื่น สีนี้ไป

เช่นในเรื่อง สีส้ม ชื่อสร้อยฟ้า
ภรรยา พลายงาม เหลือชื่อไว้
แทนที่ด้วย กุมาร ดอกสวยใหญ่
และอีกต้น ได้ชื่อไว้ จากเรื่องนี้

มีดอกสี ชมพูปูน หวานสวยดี
ชื่อนามนี้ มิใช่ใคร คือเณรแก้ว
ขุนแผน ในวัยเยาว์ คราวบวชแล้ว
ผู้คลาดแคล้ว ชื่อพลายแก้ว ก่อนหน้านั้น

แลขอจบ เล่าเรื่องชื่อ ที่นำมา
เยอบีร่า ผูกร้อยเรียง ชื่อพันธุ์
นิทาน พื้นบ้านไทย มาสร้างสรรค์
คล้องชื่อกัน กับดอกเยอ-บีร่างาม

จาก ส่วนหนึ่งของหนังสืออ่านนอกเวลา คุณครูอารยา

หมายเหตุ : นิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนนี้ยังมีตัวละครอีกหลายคนที่ไม่ได้กล่าวถึง และเป็นการยกเรื่องราวมาแต่งเป็นบทกลอนเพียงบางส่วนเท่านั้นเพื่อให้สอดคล้องกับชื่อของเยอบีร่าไทยที่คนในยุคก่อนได้ตั้งชื่อไว้ในอดีต


ชื่อเยอบีร่าไทย จากนิทานพื้นบ้าน ขุนช้าง-ขุนแผน

(ซึ่งหลายต้นอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว หรืออาจจะมีมากกว่าที่กล่าวถึง)

1.ขุนแผนต้น 1 ต้น 2
ดอกสวยมากสีแดงสด สว่าง ก้านสั้น ปัจจุบันขุนแผนต้นเดิมยังไม่ปรากฏให้เห็น ทั้งขุนแผนต้น 1 และขุนแผนต้น 2

2.นางพิม 
(พิมพิลาไลย/วันทอง ภรรยาขุนช้าง-ขุนแผน)
เยอบีร่าไทย: นางพิม (ผสม)
ปัจจุบันพบเพียงพันธุ์ที่ผสมขึ้นใหม่ให้มีกลีบดอกหนาขึ้น จากนางพิมต้นเดิมที่มีลักษณะกลีบดอกบางกว่า แต่เป็นสีชมพูเดียวกัน คือคล้ายกับสีปูนแห้ง

3.ขุนช้าง
สีของดอกออกสีส้มแดงกลีบบางมากไม่นิยมปลูก ซึ่งคาดว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว

4.ทองประศรี 
(นางทองประศรีแม่ขุนแผน)
เยอบีร่าไทย: ทองประศรี
ดอกสีเหลืองติดเขียว ดอกแน่นหนากลมสวยมากๆ แต่ในบางพื้นที่กลับเรียกต้นนี้ว่าเหลืองถ่อ (ซึ่งในพื้นที่เขตตลิ่งชันซึ่งเป็นแหล่งพันธุ์เยอบีร่าไทยดั้งเดิมนั้น เหลืองถ่อจะเป็นอีกต้นหนึ่ง ซึ่งลักษณะจะไม่เหมือนกันกับเหลืองทองประศรี)

5.เทพทอง 
(นางเทพทองแม่ขุนช้าง)
เยอบีร่าไทย: เทพทอง
ดอกสีส้มเหลือง ดอกค่อนข้างใหญ่มาก กลีบซ้อนหลายชั้นฟูหนา สวยมากๆ เช่นกัน

6.กุมาร 
(กุมารทองบุตรชายของขุนแผนกับนางบัวคลี่ที่ถูกปลุกเสกเป็นของวิเศษสำคัญ 3 อย่างของขุนแผน)
เยอบีร่าไทย: กุมาร
เป็นต้นพันธุ์ท้ายๆ ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์มาใช้แทนสีส้มต้นอื่นๆ ต้นพันธุ์มาจากทางปลายบาง นนทบุรี เนื่องด้วยสีที่สดและสวย กลีบหนากว่า จึงเป็นสาเหตุให้ชาวสวนหันมานิยมปลูกกุมารแทนดอกสีส้มอื่นๆ และดอกสีส้มชื่ออื่นๆ ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป อาทิ สร้อยฟ้า แววนกยูง (เยอบีร่าสีส้มในยุคแรกๆ ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยกุมาร)

7.หมื่นหาญ 
(บิดาของนางบัวคลี่ภรรยาขุนแผนอีก 1 คน)
เยอบีร่าไทย: หมื่นหาญ
ดอกสีส้มแดง กลีบค่อนข้างบาง ก้านอ่อนสีเข้ม (ดั้งเดิมในท้องที่ตลิ่งชันไม่ได้ปลูกไม้ต้นนี้ ได้พันธุ์/ข้อมูลชื่อพันธุ์มาจากแหล่งอื่น)

8.สร้อยฟ้า 
(ภรรยาพลายงามบุตรขุนแผนกับนางพิม)
เป็นไม้สีส้มในยุคแรกๆ สีส้มติดเหลืองเล็กน้อยกลีบละเอียด แต่ให้สีส้มไม่สดเท่ากับกุมาร จึงถูกทดแทนด้วยกุมารเลยค่อยๆ หายไป เนื่องจากชาวสวนเลิกปลูกแล้วหันมาปลูกกุมารตัดดอกขายแทน

9.เณรแก้ว 
(วัยเยาว์สมัยบวชเรียนของขุนแผน เดิมชื่อพลายแก้ว)
ดอกสีชมพู ดอกไม่ใหญ่มากนัก สวยหวาน น่ารัก ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังคงเหลือพันธุ์อยู่รึไม่

หมายเหตุ : เยอบีร่าไทยนั้นมีชื่อเรียกมาจากคนยุคก่อนได้ตั้งชื่อไว้เมื่อประมาณ 60 กว่าปีก่อนในยุคเฟื่องฟูบุกเบิกของเยอบีร่าไทย ข้อมูลข้างต้นไม่ใช่ข้อมูลในเชิงวิชาการ ไม่สามารถใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของชาวสวนเยอบีร่าไทยดั้งเดิมในเขตตลิ่งชัน จากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น

ที่มา : Reuan Yaya Garden